วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'แม่บุญธรรม' หญิงสาวผู้คอยโอบอุ้มสายใยแห่งเลือดนอกอก

มาแชร์เรื่องนี้เผื่อบางทีมีหลายคนยังไม่ได้อ่าน จาก Manager Online สำหรับลูกทุกคนได้ระลึกถึงความรัก
ของอิสตรี


ถึงไม่ได้ให้ กำเนิดโดยเลือดเนื้อเชื้อไข แต่ความยิ่งใหญ่ของผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า 'แม่บุญธรรม' แม่ผู้รับเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงดูแลราวลูกของตน ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่ผู้ให้กำเนิดแม้แต่นิดเดียว
      
        ...ความรัก ความผูกพัน ความเมตตา… ที่เกิดขึ้นเพียงแรกพบได้ถักทอสายใยบางๆ พันธนาการรอบดวงใจของหญิงผู้เป็นแม่คนใหม่ เชื่อว่าคงเป็นวาสนาที่ถูกลิขิตมาระหว่างแม่บุญธรรมกับลูกบุญธรรมที่จะร่วม สานต่อสายใยแห่งครอบครัว นาทีต่อจากนี้การดูแลลูกให้เติบโตเป็นคนดีมีความรับผิดชอบก็เป็นหน้าที่ของ เธอแล้ว
      
       ภาระอันยิ่งใหญ่ของแม่ ครั้นยามกินไม่ได้กินยามนอนก็ไม่ได้นอน เพราะมัวแต่คอยดูแลเจ้าทารก วันไหนกล่องดวงใจไม่สบาย...หัวใจแม่แทบแตกสลาย เฝ้าห่วงหาอาทรหากเจ็บปวดแทนลูกได้ก็พร้อมใจ ครั้นเติบใหญ่เห็นผู้เป็นลูกทนทุกข์...แม่นั้นทุกข์ยิ่งกว่า
      
       ไม่ว่าจะเป็นลูกบุญธรรมที่รับอุปการะมาจากลูกของตน, ญาติพี่น้อง หรือรับอุปการะลูกมาจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ฯลฯ พวกเธอก็ยังเฝ้าเลี้ยงดูฟูมฟักลูกๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งยังสรรหาสิ่งดีๆ มาให้ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สิ่งของ เงินทอง ฯลฯ
      
       เป็นสัจธรรมอีกข้อที่ว่าความห่างไกลทางสายเลือดนั้นไม่ได้เป็น อุปสรรคที่ทำให้แม่บุญธรรมเกิดความรังเกียจในตัวพวกเขาแม้สักนิด ในทางตรงกันข้ามยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้นไป อีก
      
       นัยคำว่า ‘แม่บุญธรรม’
      
       จุดเริ่มต้นของชีวิตน้อยๆ อาจเริ่มต้นจากผู้เป็นแม่ผู้ให้กำเนิด แต่การเดินทางของชีวิตพวกเขาจำนวนไม่น้อยอาจต้องมาเริ่มต้นกับแม่บุญธรรม
      
       นอกจากนี้คำเรียกผู้หญิงที่คอยโอบอุ้มลูกยังมีอีกมาก แต่มีนัยยะที่แตกต่างกันไปนิดหน่อย ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยง ที่ใช้เรียกหญิงผู้มาใช้ชีวิตร่วมกับพ่อ หรือแม่นม คำเรียกหญิงแม่ลูกอ่อนที่แบ่งน้ำนมมาเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นที่นิยมของชนชั้นกลางที่จะหาแม่นมมาเลี้ยงดูแลลูกของตน หรือแม่ทูนหัว หญิงผู้ค้ำจุนนอกจากพ่อแม่แท้ๆ ถือว่าเป็นความเมตตาที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมา ฯลฯ
      
       อย่างไรก็ตามความรู้สึกของผู้เป็นแม่ ระหว่างแม่บังเกิดเกล้ากับแม่บุญธรรมนั้นแทบไม่ต่างกันเลย รศ.สุพัตรา สุภาพ อาจารย์อาวุโส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความผูกพันระหว่างแม่กับเด็กนั้นเกิดขึ้นเพราะการสัมผัส การอุ้ม การกอด ฯลฯ จะเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดหรือไม่ หากเพียงเฝ้าฟูมฟักทะนุถนอมก็เกิดความรักความผูกพันเป็นธรรมดา
      
       “ถามว่าแม่บุญธรรมนั้น ผูกพันกับเด็กน้อยกว่าแม่แท้ๆ หรือเปล่า ก็ต้องบอกก่อนว่าความผูกพันของเด็กนั้นเกิดจากการได้พบหน้าคนที่เลี้ยง การอุ้ม การกอด เมื่อเขาเกิดมาก็เห็นแต่แม่คนนี้เคียงคู่ก็รักก็ผูกพัน เขาไม่ได้สนใจว่าจะเป็นแม่แท้หรือไม่แท้ แม่บุญธรรมก็คือคนที่เลี้ยงดูแลเรา มีความคิดที่ว่าไม่เป็นไรหรอกถ้าลูกไม่รักเราก็ไม่เป็นไรแค่ใจเรารักเด็กคน นี้เหมือนลูกก็พอ
      
        “ขอยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งที่รับเลี้ยงลูกบุญธรรม แกรักลูกบุญธรรมคนนี้มากโอบอุ้มรักใคร่เป็นอย่างดี ตัวแม่บุญธรรมเองไม่ต้องทำงานเลยนะคอยไปรับไปส่งเลี้ยงดูลูกอย่างเดียว อย่างตอนเรียนมหาลัยฯ ก็ไปอยู่ไปดูแลถึง 4 ปีไปอยู่เฝ้าที่หอพักทำกับข้าวให้ลูกกิน โดยที่เด็กไม่ต้องทำอะไรเลย และเด็กคนนี้ก็น่ารัก อยากให้แม่อยู่ด้วยเพราะรู้สึกอบอุ่น คือความที่เขาไม่มีลูกเลยรู้สึกผูกพันกับลูกบุญธรรมที่เลี้ยงมาตั้งแต่แบ เบาะ บางทีมันมีความรักใครผูกพันยิ่งกว่าแม่แท้ๆ เสียอีก”
      
       ในโลกนี้มีทั้งด้านบวกและด้านลบ พ่อแม่ที่แท้จริงที่ไม่แยแสลูกก็มีถมไป แต่ถ้าเด็กคนไหนได้เข้าไปอยู่ในอ้อมอกแม่บุญธรรมที่ให้ความเอ็นดูเอาใจใส่ก็ นับเป็นโชคดีของเขา รศ.สุพัตรา กล่าวถึงคุณลักษณะโดยรวมของพ่อแม่ที่ดีว่า
      
        “เวลาอยู่กับลูกนั้นสำคัญที่สุดเลย คุณได้ทำตัวเป็นพ่อแม่ที่ให้ความรักความอบอุ่นที่แท้จริงหรือเปล่า เรื่องหนึ่งที่สำคัญในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ทั้งหลายอย่าทำตัวเป็นผู้พิพากษา เพราะเขาจะรู้สึกตัวว่าเป็นนักโทษ ขอให้ทำตัวเป็นพี่เลี้ยงของลูกดีกว่า เพราะเขาจะสามารถปรึกษาทุกข์สุขกับเราได้ทุกเรื่อง แล้วเด็กมันก็จะผูกพันกับเรา รู้สึกอบอุ่น”
      
       สิ่งที่แม่บุญธรรมต้องการจากลูกๆ ก็เพียงแค่ขอให้พวกเขาเป็นคนดีและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ถึงไม่ได้ดื่มกินน้ำนมจากอกอุ่นของผู้เป็นแม่ แต่เพวกเขาก็ได้รับไออุ่นจากแม่บุญธรรมที่เฝ้าทะนุถนอมมาโดยตลอด

      
       แม่บุญธรรมของเด็ก 60 คน
      
       ความรักของแม่กับลูก เป็นสิ่งที่มักจะมากับความผูกพันทางสายเลือดแต่ในบางครั้งความผูกพันทางสาย เลือดก็ไม่ได้มีความสำคัญที่สุดเสมอไป มุทิตา หทัยธรรม เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความรักความห่วงใยลูกๆ ของเธอในแบบที่แม่บุญธรรมมีให้แก่ลูกบุญธรรม แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือเด็กๆ ที่อยู่ในฐานะลูกของเธอนั้น มีจำนวนมากถึง 60 คน!
      
       เธอเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ทำหน้าที่เหมือนแม่คอยดูแลพวกเขา ให้ความรักความอบอุ่นแก่พวกเขา ลูกๆ ของเธอก็คือเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก มูลนิธิเด็กนั่นเอง
      
        “เด็กที่นี่เป็นเด็กที่ด้อยโอกาส บางคนกำพร้า บ้างก็ครอบครัวแตกแยกถูกทอดทิ้ง บ้างก็ถูกทารุณกรรม หรือไม่ก็เป็นเคสที่พ่อกับแม่แท้ๆ ของเขาเสพยาเสพติด มีประวัติการค้าประเวณี คือเราเป็นคนไปประเมินบ้านของเขา ประเมินเคสแล้วก็ตัดสินใจรับเด็กเข้ามา จริงๆ แล้วเด็กที่มาที่นี่มีตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี แต่เด็กๆ ในส่วนที่เราดูแลอยู่นั้น จะเป็นเด็กอนุบาลที่มีอายุ 3 - 6 ขวบ เด็กที่นี่ก็จะเรียกคนดูแลว่า แม่”
      
       การดูแลเด็กๆ จำนวนหลายสิบคน รวมทั้งให้ความรักความห่วงใยให้กับทุกคนเท่าๆ กัน นับเป็นเรื่องยากแม้ว่าโดยหลักการแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นก็ตาม
      
       “ที่ผ่านมาเราจะไม่ผูกพันกับเด็กคน ไหนเป็นพิเศษ เพราะเด็กที่ได้รับสิทธิพิเศษจะสร้างความรู้สึกไม่เท่าเทียมให้กับเด็กคน อื่นๆ การที่เด็กอยู่ในสภาวะที่ฉลาดในการเรียกร้องจากคนอื่นนั้น มี 2 กรณี อย่างแรกคือมันเกิดจากเนื้อแท้ของเด็กเอง อีกอย่างก็เกิดจากการเรียนรู้และสภาพแวดล้อม บางคนถึงแม้เขาจะไม่มีใครเลย แต่ถ้าเนื้อแท้ของเขาไม่ได้เป็นคนที่ชอบเรียกร้อง เขาก็ไม่เปลี่ยนไปมีพฤติกรรมที่ไม่ดี
      
        “มนุษย์ทุกคนต้องการที่จะมีแม่กันทั้งนั้น ทุกคนต้องการความรัก ต้องการใครคนใดคนหนึ่งที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของได้ และคนคนนั้นก็เป็นเจ้าของเขาได้ แต่ในกรณีของเรานั้นไม่สามารถให้สิ่งนั้นได้กับทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตเขาเองในตอนที่เขาโตขึ้น”
      
       เสียงจากแม่-ลูกบุญธรรม
      
       หนึ่งเสียงสะท้อนจากแม่บุญธรรมอย่าง เหงี่ยม สุรินทร์ เกษตรกรชาวเหนือผู้รับภาระเป็นแม่บุญธรรมของลูก 3 คน เธอเล่าว่า พวกเขาล้วนเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งเพราะปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน ด้วยความเมตตาก็เลยนำพวกเขามาเลี้ยงดังลูกแท้ๆ
      
       “เราเลี้ยงเหมือนลูกเลย เพราะว่าเรารักเขามาก สงสารเขา ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็เป็นหลานเราทั้งหมดเลย ที่เอามาเลี้ยง ญาติทางเราเอง 2 คน แล้วก็ญาติทางสามี 1 คน ซึ่งญาติทางสามีแม่เขายังเด็ก รับผิดชอบไม่ไหว เราก็เลยเอาเด็กมาเลี้ยงเอง ตอนนี้เขาก็โตทำมาหากินได้กันหมดแล้ว เราก็โล่งใจ”
      
       เหงี่ยม เปิดเผยว่าถึงบางครั้งลูกจะทำตัวเกเร แต่ตนก็ไม่เคยถือโทษโกรธแม้แต่น้อย และไม่ได้คาดหวังให้พวกเขามาเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า เพียงแต่หวังให้ลูกๆ มีหน้าที่การงานมั่นคง เป็นคนดีของสังคม
      
       ด้านลูกสาวบุญธรรมอย่าง บงกฎธร เจนเจริญกิจ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่าพ่อแม่ของตนแยกทางกันตั้งแต่ตอนเธออายุ 7 ขวบ แล้วก็ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่บุญธรรมผู้เปรียบดั่งแม่บังเกิดเกล้าเรื่อยมา
      
       “เราผูกพันและสนิทกับแม่คนนี้มากๆ เขาดูแลเรามาตลอด เรารักเขาเหมือนแม่แท้ๆ รู้ว่าเขาลำบากมาก และเหนื่อยมากที่เลี้ยงเรามา เพราะว่าต้องหาเงินมาเลี้ยงลูกที่ไม่ใช่เราคนเดียว ยังมีน้องชายอีก 2 คนที่แม่ต้องรับภาระเลี้ยงดู ต้องใช้เงินทองจำนวนมากกว่าจะเลี้ยงเราโตมา ยิ่งเรามีลูกมีครอบครัวเรารู้เลยว่าการเลี้ยงเด็กสักคนมันเหนื่อยแค่ไหน”
      
       ตอนนี้เขาอายุมากขึ้นก็เป็นหน้าที่ของลูกๆ ที่ต้องดูแลบ้างแล้ว ถึงครอบครัวของเราไม่ได้พร่ำบอกกันว่ารัก แต่การกระทำมันก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ถึงความรักอยู่แล้ว
      
       “จะหาเวลาไปกินอาหารนอกบ้านร่วมกัน ตลอด อย่างวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดพิเศษ ไม่จำเป็นต้องเป็นวันแม่อย่างเดียว อีกอย่างถึงเราจะแต่งงานมาอยู่คนละบ้านกับคุณแม่บุญธรรมแต่ก็ไปมาหาสู่ท่าน ทุกวันเพราะบ้านอยู่ใกล้กัน”
       ..........
      
       สายใยความสัมพันธ์ระหว่างแม่บุญธรรมกับลูกบุญธรรม คงเป็นวาสนาที่ทำร่วมกันแต่ปางก่อน ถึงแม้ไม่ได้อุ้มท้อง ไม่ได้เกิดโดยเลือดเนื้อเชื้อไข แต่ความเป็นแม่ผู้เสียสละของพวกเธอนั้นช่างยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน...
       >>>>>>>>>>ขอบคุณ Manager Online สำหรับบทความดีๆ



วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

องคุลีมาลเถระ

พระองคุลีมาลเถระ
กำเนิดอหิงสกกุมาร
ที่เมืองสาวัตถีของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองคุลิมาลนี้ ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณ์ชื่อ มันตานี ภรรยาของ คัคคพราหมณ์ (ภัคควพราหมณ์) ซึ่งเป็นปุโรหิตแห่งเมืองสาวัตถี  ในเวลาที่องคุลิมาลคลอดออกจากครรภ์มารดานั้น บรรดาอาวุธทั้งหลายในนครทั้งสิ้นช่วงโชติขึ้น แม้กระทั่งฝักดาบ 
ที่อยู่ในห้องพระบรรทมก็ส่งแสงเรืองขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตจึงลุกออกมาแหงนดูดาวนักษัตร ก็รู้ว่าบุตรเกิดโดยฤกษ์ดาวโจร ลูกของตนที่จะเกิดจากครรภ์ของภรรยานั้น จะเป็นโจรผู้ร้ายกาจเที่ยวเข่นฆ่ามนุษย์เสียมากมาย
วันรุ่งขึ้นปุโรหิตจึงเข้าไปในพระราชวัง เข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อทูลถวายรายงานถึงเหตุอาเพศที่เกิดขึ้นเมื่อคืนก่อน และกราบทูลว่าเป็นเพราะลูกที่เกิดจากนางพราหมณีที่เรือนของตน พระราชาสอบถามว่าอาเพศดังกล่าวจักเกิดเหตุอะไร ปุโรหิตกราบทูลว่า เขาจักเป็นมหาโจร พระราชาถามต่อว่าจักเป็นโจรทำร้ายผู้คน หรือ เป็นโจรประทุษร้ายราชสมบัติ ปุโรหิตกราบทูลว่า เขาจะไม่มีภัยต่อราชสมบัติ จะเป็นโจรคนเดียว พระราชาตรัสว่า เป็นโจรคนเดียวจะทำอะไรได้ ถ้าเขาทำเหตุอันใดขึ้นในอนาคต เราก็จักจัดการเขาเสียด้วยกองทหารของเรา จงเลี้ยงเขาไว้เถิด
แม้ในวันที่ตั้งชื่อกุมารนั้น สิ่งของเหล่านี้คือ ฝักดาลอันเป็นมงคลที่วางไว้ ณ ที่นอน ลูกศรที่วางไว้ที่มุม มีดน้อยสำหรับตัดขั้วตาลซึ่งวางไว้ในปุยฝ้ายต่างส่งแสงลุกโพลงขึ้น แต่หาได้เป็นอันตรายหรือเบียดเบียนใครไม่ ปุโรหิตาจารย์นั้นเชื่อตามตำราว่า ลูกตนต้องเป็นคนโหดร้ายทารุณแน่ ก็เลยตั้งชื่อเด็กคนนี้เป็นการแก้เคล็ดเสียว่า อหิงสกกุมารแปลว่า เด็กผู้ไม่เบียดเบียนใคร
อหิงสกกุมารออกศึกษา
เมื่ออหิงสกกุมารมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้วบิดามารดาจึงส่งไปเรียนกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักกศิลา อหิงสกกุมารเป็นคนมีปัญญา ขยัน ตั้งใจเรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย คอยรับใช้อาจารย์ด้วยความเคารพ พูดจาไพเราะจึงเป็นที่พอใจของอาจารย์มาก แต่ศิษย์คนอื่น ๆ เห็นท่านเป็นคนโปรดของอาจารย์ก็ริษยา พากันออกอุบายเพื่อกำจัดอหิงสกมาณพ โดยแบ่งคนออกเป็นสามพวก พวกแรกก็เข้าไปบอกอาจารย์ว่า ได้ยินมาว่าอหิงสกมาณพจะประทุษร้ายท่านอาจารย์ ทีแรกอาจารย์ไม่เชื่อ แต่เมื่อพวกที่สอง และ พวกที่สามเข้าไปบอกเรื่องอย่างเดียวกัน หนักเข้าก็กลับใจเชื่อ แล้วอาจารย์จึงหาอุบายฆ่าอหิงสกมาณพ
อาจารย์คิดต่อไปอีกว่า ถ้าเราฆ่ามัน ใคร ๆ ก็จะคิดว่าอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ลงโทษมาณพผู้มาเรียนศิลปะยังสำนักของตนแล้วปลงชีวิตเสีย ดังนี้ ก็จักไม่มีใครมาเล่าเรียนศิลปะกับเราอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็จะเสื่อมลาภ ดังนั้นจึงได้ออกอุบายยืมมือคนอื่นฆ่า โดยให้มาณพนั้นฆ่าคนให้ได้พันคน ด้วยคาดว่าเมื่ออหิงสกกุมารปฏิบัติตามคำสั่งของตน เที่ยวได้ฆ่าคนไป ก็จะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งต่อสู้ และฆ่ามาณพนั้นจนได้ แล้วอาจารย์จึงบอกมาณพนั้นว่า ยังมีคำสำหรับศิลปะวิชาขั้นสุดท้ายอยู่ เจ้าจะต้องฆ่าคนให้ได้พันคน เพื่อประกอบพิธีบูชาครู (ครุทักษิณา) มิฉะนั้นวิชานั้นก็จะไม่มีผล
กำเนิดมหาโจรองคุลิมาล
ทีแรกอหิงสกกุมารปฏิเสธโดยอ้างว่าท่านเกิดในตระกูลที่ไม่เบียดเบียนใคร แต่อาจารย์บอกว่าศิลปศาสตร์ที่เรียนไปแล้วถ้ามิได้บูชาครูก็จะไม่อำนวยผลที่ต้องการ ด้วยนิสัยรักวิชา อหิงสกกุมารจึงยอมปฏิบัติตาม โดยออกไปสู่ป่าชาลิวันในแคว้นโกศล อาศัยอยู่ที่หุบเขาแห่งหนึ่งคอยดักฆ่าคนเดินทางออก เที่ยวปล้นหมู่บ้านและตำบลต่าง ๆ เป็นโกลาหล ได้ฆ่าคนล้มตายเป็นจำนวนมาก
แรก ๆ อหิงสกมาณพก็ไม่ได้ตัดนิ้วชนที่ตนฆ่าเก็บเอาไว้ แต่เมื่อฆ่าคนมากเข้า ๆ ก็จำไม่ได้ว่าฆ่าไปแล้วกี่คน เพื่อเป็นเครื่องนับจำนวนคนที่ตนฆ่า อหิงสกมาณพก็ตัดเอานิ้วมือคนที่ตายคนละหนึ่งนิ้ว 
มาเก็บไว้ แต่เก็บ ๆ ไปก็มีนิ้วที่เสียหายไปบ้างไม่ครบจำนวน จึงเปลี่ยนมาทำเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้ ฉะนั้นคนจึงเรียกชื่อท่านว่า องคุลิมาล
นับแต่ออกจากสำนักอาจารย์มา องคุลิมาลก็คอยดักซุ่มฆ่าคนเรื่อยไป เจอใครฆ่าหมดไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายคนเฒ่าคนแก่เด็กเล็กเด็กแดงไม่เลือก จนไม่มีใครสามารถไปป่าเพื่อหาฟืนเป็นต้น ในตอนกลางคืนก็เข้ามายังภายในบ้านเอาเท้าถีบประตู แล้วก็ฆ่าคนที่นอนนั้นแหละ หมู่บ้านก็ร่นถอยไปตั้งในนิคม.นิคมก็ร่นถอยไปตั้งอยู่ในเมือง พวกมนุษย์ทิ้งบ้านเรือนจูงลูกเดินทางมาล้อมพระนครสาวัตถี เป็นระยะทางถึงสามโยชน์ ตั้งค่ายพักประชุมกันที่ลานหลวง ต่างคร่ำครวญกล่าวกันว่า ข้าแต่สมมติเทพ 
ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อองคุลิมาล
พราหมณ์ปุโรหิตได้ยินเรื่องดังนั้นก็รู้ว่า โจรองคุลิมารนั้นต้องเป็นบุตรของเราเป็นแน่ จึงกล่าวกะนางพราหมณีว่า เกิดโจรชื่อองคุลิมาลขึ้นแล้ว โจรนั้นคงไม่ใช่ใครอื่น ต้องเป็นอหิงสกกุมาร ลูกของเราเป็นแน่ บัดนี้ พระราชาจะเสด็จออกไปจับเขา เราควรจะทำอย่างไร นางพราหมณีพูดว่า ฉันจะไปพาลูกของฉันมา ดังนี้ จึงออกเดินทางเพื่อไปบอกลูกบุตรชายให้หนีไปเสีย.
                เวลานั้นโจรองคุลิมาลได้นิ้วมือมาเพียง ๙๙๙ นิ้ว ยังขาดอยู่นิ้วเดียวเท่านั้น จึงกระหายเป็นกำลังและตั้งใจว่าถ้าพบใครก่อนก็จะฆ่าทันทีเพื่อจะได้นิ้วมือครบตามต้องการ แล้วจะได้ตัดผมโกนหนวดอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วไปเยี่ยมบิดามารดา
องคุลิมาลพบพระพุทธเจ้า
                เช้าตรู่วันนั้นพระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกทรงเห็นว่าองคุลิมาลเป็นผู้มีอุปนิสัยพอที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลได้ และทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าพระองค์มิได้เสด็จไปโปรด องคุลิมาลก็จะกระทำมาตุฆาต ฆ่ามารดาของตนเสีย จะเป็นผู้กระทำอนันตริยกรรม ไม่สามารถบรรลุธรรมใด ๆ ได้ในชาตินี้ 
แม้จะได้ฟังธรรมโดยตรงจากพระพุทธองค์ พระองค์จึงเสด็จจาริกมุ่งตรงไปยังป่าชาลิวันเป็นระยะทาง
๓๐ โยชน์ เพื่อสกัดองคุลิมาลไว้มิให้ทันได้ฆ่ามารดา
ธรรมดาการเสด็จจาริกของพระผู้มีพระภาคเจ้า มี ๒ อย่างคือ เสด็จจาริกอย่างรีบด่วน ๑ เสด็จจาริกอย่างไม่รีบด่วน ๑. ใน ๒ อย่างนั้น  การที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นบุคคลที่ควรให้ตรัสรู้ได้แม้ในที่ไกล ก็จะเสด็จไปโดยเร็วเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของเขา ชื่อว่าเสด็จจาริกอย่างรีบด่วน. เช่นในการเสด็จไปเพื่อประโยชน์แก่พระอังคุลิมาลในครั้งนี้
ในระหว่างทางนั้นพวกคนเลี้ยงโคได้พากันวิ่งเข้าไปกราบทูลขอร้องถึง ๓ ครั้ง มิให้เสด็จไปหาองคุลิมาลเพราะกลัวพระองค์จะได้รับอันตราย  แต่พระพุทธองค์ทรงเฉยเสียแล้วเสด็จดำเนินต่อไปจนถึงป่าชาลิวัน
 โจรองคุลิมาลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ก็คิดว่าน่าประหลาดจริงหนอ เมื่อก่อน แม้พวกบุรุษมากันสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ก็ยังต้องรวมเป็นกลุ่มเดียวกันเดินทาง แต่ถึงอย่างนั้น บุรุษพวกนั้นยังต้องตายเพราะมือเรา นี่มีเพียงสมณะนี้ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนมาด้วย ชะรอยสมณะนี้คงจะมีดีอะไรสักอย่างแล้วจะมาลองดีกับเรา ถ้ากระไร เราพึงปลิดชีวิตสมณะนี้เถิด ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรถือดาบและโล่ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาคไปทางพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ ในลักษณะที่องคุลิมาลจะวิ่งจนสุดกำลัง ก็ไม่อาจทันพระผู้มีพระภาค ผู้เสด็จไปตามปกติได้
เมื่อเป็นดังนั้น องคุลิมาลโจรก็ได้มีความคิดว่า น่าอัศจรรย์จริง เมื่อก่อนนี้ แม้ช้างกำลังวิ่ง ม้ากำลังวิ่ง รถกำลังแล่น เนื้อกำลังวิ่ง เราก็ยังวิ่งตามจับได้ แต่ว่านี่เราวิ่งจนสุดกำลัง ยังไม่อาจทันสมณะนี้ซึ่งเดินไปตามปกติได้ คิดดังนี้แล้ว จึงหยุดยืนกล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด
ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรคิดอยู่ว่า สมณศากยบุตรเหล่านั้น ปกติมักเป็นคนพูดจริงมีปฏิญญาจริง แต่สมณะรูปนี้ กำลังเดินไปอยู่แท้ ๆ กลับพูดว่า เราหยุดแล้ว คงจะต้องมีนัยอะไรสักอย่าง เราน่าจะถามสมณะรูปนี้ดูจะดีกว่า
ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค สมณะ ท่านกำลังเดินไป ยังกล่าวว่า เราหยุดแล้ว และยังกล่าวกะข้าพเจ้าผู้หยุดแล้ว ว่าไม่หยุด สมณะ ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ท่านหยุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุด เป็นอย่างไร?
องคุลิมาลทูลขอบรรพชา
พระพุทธองค์มีพระดำรัสตอบว่า  “องคุลิมาลเราได้หยุดคือเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว ส่วนตัวเธอยังไม่หยุด คือยังฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่ เราจึงพูดเช่นนั้นองคุลิมาลได้ยินพระสุรเสียงอันแจ่มใส พระดำรัสที่คมคายเช่นนั้น ก็เกิดใจอ่อน รู้สึกสำนึกผิดได้ทันทีแล้ววางดาบ ทิ้งธนู สลัดแล่งโยนทิ้งลงเหวที่หุบเขา เข้าไปถวายบังคมพระบาทยุคลของพระพุทธองค์ ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้ทรงพิจารณาเห็นว่าองคุลีมาลนั้นถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยและได้เคยถวายภัณฑะ คือ บริขารแปด แก่ท่านผู้มีศีลในปางก่อน ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาออกจากบังสุกุลจีวร เปล่งพระสุรเสียง ตรัสเรียกว่า  เธอ  จงมาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์  เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด พร้อมกับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นนั่นเอง  เพศคฤหัสถ์ขององคุลีมาลนั้นก็อันตรธานไป บรรพชาและอุปสมบทก็สำเร็จ องคุลิมาลนั้นก็เป็นผู้ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะ  คือนุ่งผ้าอันตรวาสก ผืนหนึ่ง  ห่มผ้าอุตราสงค์ ผืนหนึ่ง  พาดผ้าสังฆาฏิไว้บนบ่าผืนหนึ่ง  มีบาตรดินที่มีสีเหมือนดอกอุบลเขียวคล้องไว้ที่บ่าข้างซ้าย พร้อมด้วยบริขารอื่น คือ มีดโกน  เข็ม  และผ้ารัดประคดเอว และ ผ้ากรองน้ำ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ  เหมือนพระเถระอายุพรรษาตั้งร้อยพรรษา  มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอาจารย์  มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌายะ  ยืนถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทีเดียว.
พระบรมศาสดาก็เสด็จพาองคุลิมาลภิกษุไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้พบภิกษุองคุลิมาล
สมัยนั้น หมู่มหาชนก็มาชุมนุมกันอยู่ที่ประตูพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่งเสียงร้องทุกข์กับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้า ฆ่าคนโดยไม่มีความกรุณา องคุลิมาลโจรนั้น เข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงแขวนคอไว้ ขอพระองค์จงกำจัดมันเสียเถิด.
พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ทรงกลัวองคุลิมาล มิได้มีพระประสงค์จะไปจับโจรเลยแต่ทรงเกรงต่อคำครหา จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า พระองค์พาไพร่พลออกมาเพราะเหตุไร เราก็จะทูลว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้สงเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยประโยชน์ในภพหน้าแต่เพียง อย่างเดียวเท่านั้น แม้ประโยชน์ในปัจจุบันก็ทรงสงเคราะห์ด้วย ข้าพระองค์ออกมาจับโจรองคุลิมาล  ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่าเราจะจับโจรได้ก็คงจะทรงนิ่งเสีย แต่ถ้าเราทรงเห็นว่าเราจะแพ้ ก็จะทรงตรัสว่า มหาบพิตร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเสด็จมาด้วยเรื่องของโจรเพียงคนเดียวถ้าเป็นอย่าง นั้นคนก็จะเข้าใจเราอย่างนี้ว่า พระราชาเสด็จออกจับโจร แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามเสียแล้ว ดังนี้ เราก็จะพ้นคำครหาด้วยประการฉะนี้
ดังนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เสด็จเคลื่อนพลออกจากนครสาวัตถี ด้วยกระบวนม้าประมาณ ๕๐๐ เสด็จเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหารแต่ยังวันทีเดียว เสด็จไปด้วยพระยานจนสุดทางที่ยานจะสามารถไปได้แล้ว เสด็จลงจากพระยานแล้ว ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ดูกรมหาบพิตร พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธทรงทำให้พระองค์ทรงขัดเคือง หรือเป็นเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี หรือว่าเป็นพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น?
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า มิได้พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน ออกมาจับโจรชื่อว่าองคุลิมาล
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรมหาราช ถ้ามหาบพิตรทอดพระเนตรเห็น องคุลิมาล เป็นผู้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ พระองค์จะทรงกระทำอย่างไรกะเขา?
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงทำความเคารพ จะจัดถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือก็จะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่องคุลิมาลโจรนั้น เป็นคนทุศีล มีบาป จะมีความสำรวมด้วยศีลถึงอย่างนั้นได้อย่างไร?
ขณะนั้น ท่านพระองคุลิมาล นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้ตรัสบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ดูกรมหาราช นั่น องคุลิมาล.
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเห็นองคุลิมาลก็ทรงมีความกลัว ทรงหวาดหวั่น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกลัว จึงได้ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า อย่าทรงกลัวเลย มหาราช อย่าทรงกลัวเลย มหาราช บัดนี้ องคุลิมาลนี้ไม่เป็นภัยกับผู้ใดแล้ว ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงระงับความกลัวได้แล้ว จึงเสด็จเข้าไปหาท่านองคุลิมาลถึงที่ที่ท่านนั่งอยู่ แล้วทรงดำริว่าการที่จะถือเอาชื่อที่เกิดขึ้นเพราะกรรมอันชั่วช้า คือชื่อ "องคุลิมาล" นั้นนำมาเรียกพระภิกษุ เป็นการไม่สมควร เราจักเรียกท่านด้วยชื่อแห่งโคตรของบิดามารดา ดังนี้ จึงถามว่า บิดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร มารดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร?
ท่านพระองคุลิมาลถวายพระพรว่า ดูกรมหาบพิตร บิดาชื่อ คัคคะ มารดาชื่อ มันตานี.
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงปวารณาที่จะถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่ท่านคัคคะมันตานีบุตร. และเพื่อแสดงถึงความตั้งพระทัยในการกล่าวปวารณานั้นอย่างจริงจัง พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงเปลื้องผ้าสาฏกที่คาดเอววางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของพระเถระ
แต่เนื่องจากในครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาล ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร ดังนั้น ท่านองคุลิมาลจึงได้ถวายพระพรพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า อย่าเลย มหาราช ไตรจีวรของอาตมภาพมีบริบูรณ์แล้ว.
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสรรเสริญพระพุทธคุณที่ทรงสามารถปราบโจรร้ายได้โดยไม่ต้องใช้อาญาและศัสตราอาวุธใด ๆ ลำดับนั้น แล้วทรงลุกจากที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วเสด็จกลับไป
พระองคุลิมาลโปรดหญิงมีครรภ์
หลังจากที่ท่านพระองคุลิมาลได้บวชแล้ว ท่านก็ได้รับความลำบากในเรื่องการบิณฑบาต แรก ๆ ท่านก็ออกบิณฑบาตภายนอกพระนคร แต่พวกชาวบ้านพอเห็นท่านแล้วย่อมสะดุ้งบ้าง ย่อมหนีเข้าป่าไปบ้าง ย่อมปิดประตูบ้าง บางพวกพอได้ยินว่า องคุลิมาล ก็วิ่งหนีเข้าเรือนปิดประตูเสียบ้าง เมื่อไม่อาจหนีได้ทันก็ยืนผินหลังให้ พระเถระไม่ได้แม้ข้าวยาคูสักกระบวยหนึ่ง แม้ภัตสักทัพพีหนึ่ง เมื่อท่านเห็นว่าไม่สามารถบิณฑบาตได้ภายนอกพระนครก็เข้าไปบิณฑบาตยังในพระนคร แต่พอเข้าไปทางประตูเมืองนั้น 
ก็เป็นเหตุให้มีเสียงตะโกนระเบิดออกมาเป็นพัน ๆ เสียงว่าองคุลิมาลมาแล้ว ๆ
บัญญัติพระวินัยเรื่องการให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง
ในเรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้โดยที่ในเรื่องนี้ประชาชนได้เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงให้โจรที่ขึ้นชื่อโด่งดังบวชเล่า. ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฎ.
ต่อมา ท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เห็นหญิงคลอดลูกไม่ออกคนหนึ่งจึงเกิดความสงสาร 
เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับเรื่องพระเถระลำบากด้วยภิกษาหาร เพื่อจะสงเคราะห์พระเถระนั้นโดยการลดความหวาดกลัวของประชาชนลง พระองค์จึงทรงมีพระประสงค์จะให้พระเถระแสดงสัจจกิริยาอนุเคราะห์แก่สตรีผู้เจ็บครรภ์เพื่อให้ชนทั้งหลายเห็นว่า บัดนี้พระองคุลิมาลเถระกลับได้มีเมตตาจิต กระทำความสวัสดีให้แก่พวกมนุษย์ด้วยสัจจกิริยา ฉะนั้นชนทั้งหลายย่อมคิดว่าควรเข้าไปหาพระเถระ ต่อแต่นั้นพระเถระก็จะไม่ลำบากด้วยภิกษาหาร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกร องคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้นและกล่าวกะสตรีนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด.
ท่านพระองคุลิมาลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กล่าวเช่นนั้นก็จะเป็นว่าข้าพระองค์กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เป็นแน่ เพราะข้าพระองค์แกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตเป็นอันมาก.
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกร องคุลิมาล ท่านอย่าถือเอาเหตุนั้นเลย นั่นไม่ใช่ชาติของท่าน นั่นเป็นเวลาเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ธรรมดาคฤหัสถ์ย่อมฆ่าสัตว์.บ้าง ย่อมกระทำอทินนาทานเป็นต้นบ้าง แต่บัดนี้ ชาติของท่านชื่อว่า อริยชาติ.เพราะฉะนั้น ท่านถ้ารังเกียจจะพูดอย่างอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าวกะสตรีนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด.
พระองคุลิมาลทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาหญิงนั้นถึงที่อยู่ เพื่อกระทำสัจจกิริยาให้หญิงนั้รคลอดโดยสวัสดี  ก็โดยปกติแล้ว การคลอดบุตร ของหญิงทั้งหลาย ผู้ชายไม่ควรจะเข้าไป ญาติของหญิงนั้นจึงกั้นม่านปูลาดตั่งไว้ภายนอกม่านไว้ให้พระเถระ พระเถระจึงนั่งลงบนตั่งนั้น และกระทำสัจจกิริยา ครั้นสิ้นคำสัจจกิริยานั้นทารกก็ออกจากครรภ์มาดาอย่างง่ายดาย ดุจเทน้ำออกจากกระบอก ทั้งมารดาทั้งบุตรต่างก็มีความปลอดภัย
คำสัจจกิริยาของพระเถระนี้ มหาชนต่างก็ถือว่าเป็นพระปริตรอันศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศไทยเองก็ได้อยู่ในบทสวดทั้งเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน ชื่อว่า องคุลิมาลปริต ในครั้งนั้น แม้กระทั่งตั่งที่พระเถระนั่งกระทำสัจจกิริยา ชนทั้งหลายเพียงนำสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียที่มีครรภ์คลอดลำบากมาให้นอนที่ตั่งนั้น ก็จะคลอดออกได้โดยง่าย แม้แต่ตัวใดที่พิการนำมาไม่ได้ ก็เพียงแต่เอาน้ำล้างตั่งนั้นไปรดศีรษะ ก็คลอดออกได้ในขณะนั้นทีเดียว แม้โรคอย่างอื่นก็สงบไป ได้ยินว่า พระมหาปริตนี้มีปาฏิหาริย์ตั้งอยู่ตลอดกัป.
ตั้งแต่นั่นมาปัญหาเรื่องภิกษาหารของพระเถระก็หมดไป แต่พระประสงค์ของพระพุทธองค์ในการที่จะให้พระเถระกระทำสัจจกิริยาด้วยถ้วยคำดังกล่าวข้างต้น ด้วยทรงมีพระพุทธประสงค์อีกประการหนึ่งก็คือ ในอดีตตั้งแต่พระเถระบรรพชาแล้ว ท่านก็เพียรในสมณธรรม แต่เมื่อขณะที่พระเถระกระทำกัมมัฏฐานนั้น ท่านก็ไม่สามารถทำความสงบให้เกิดขึ้นแก่จิตได้ ด้วยภาพแห่งการกระทำที่ในดง เช่นการฆ่าพวกมนุษย์ ภาพการโอดครวญวิงวอนของเหล่ามนุษย์ที่ท่านกำลังจะฆ่า ว่า ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ข้าพเจ้ายังมีบุตรเล็ก ๆ อยู่ โปรดให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าเถิดนาย ภาพความวิการแห่งมือและเท้าก็ดี ของคนเหล่านั้น ดังนี้ ย่อมมาสู่จิตของท่าน จนท่านไม่สามารถกระทำสมณธรรมได้ต้องลุกไปเสียจากที่นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ให้พระเถระกระทำสัจจกิริยาโดยอ้างอริยชาติ ด้วยทรงเล็งเห็นว่า พระองคุลิมาลต้องกระทำชาติ(ที่เป็นคฤหัสถ์)นั้นให้เป็นอัพโพหาริก (เป็นโมฆะ) คือให้พระเถระไม่คิดถึงเรื่องในเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ แต่ให้ท่านได้มีความเข้าใจว่าท่านเกิดใหม่ในอริยชาติแล้ว ให้ท่านคิดดังนี้เสียก่อนแล้วเจริญวิปัสสนา จึงจักบรรลุพระอรหัตต์ได้
ต่อมาภิกษุองคุลิมาลก็หลีกออกจากคณะไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ผู้เดียวไม่นานเท่าไรนักก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ในการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ของพระองคุลิมาลเถระนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏชัดแก่ภิกษุบางเหล่า 
ดังเช่นมีเรื่องเล่าว่า
สมัยหนึ่ง ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบทแล้วทรงมาถึงพระเชตวัน มหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำมหาทานแข่งกับพวกประชาชน โดยได้นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุทั้งหมดมาเพื่อจะถวายทาน. ในวันที่สองพวกชาวกรุงถวาย. พระราชาทรงถวายยิ่งกว่าทานของพวกชาวกรุงเหล่านั้นอีก พวกชาวกรุงก็ถวายยิ่งกว่าทานของพระองค์ เป็นดังนี้ ครั้นเมื่อล่วงไปหลายวันอย่างนั้น พระราชาทรงเกรงว่าจะแพ้พวกชาวกรุง. ทีนั้นพระนางมัลลิกาเทวีผู้เป็นพระมเหสีได้กราบทูลขอจัด อสทิสทาน ถวาย.ในอรรถกถากล่าวว่า  อสทิสทานนั้น  จะมีในพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ และในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งๆ นั้น จะมีได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น  พระนางมัลลิกาเทวีได้ทรงกราบทูลให้พระราชาจัดทานดังนี้
ให้เขาทำมณฑปสำหรับพระพุทธองค์ทรงประทับภายในวงเวียน  ภิกษุที่เหลือนั่งภายนอกวงเวียนจัดช้าง ๕๐๐ เชือกถือเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน  ยืนกั้นอยู่เบื้องบนแห่งภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป จัดทำเรือทองคำ  ๑๐ ลำวางไว้  ณ  ท่ามกลางมณฑป เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ  จัดให้นั่งบดของหอมอยู่ในระหว่างภิกษุ ๒ รูป เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ  จักถือพัด ยืนพัดภิกษุ ๒ รูป  เจ้าหญิงที่เหลือ จัดให้นำของหอมที่บดแล้วมาใส่ในเรือทองคำทั้งหลาย ในบรรดาเจ้าหญิงเหล่านั้น เจ้าหญิงบางพวกให้ถือกำดอกอุบลเขียว  เคล้าของหอมที่ใส่ไว้ในเรือทองคำแล้ว
เพราะเหล่าชาวเมืองย่อมหาเจ้าหญิงไม่ได้ ย่อมหาเศวตฉัตรไม่ได้ ย่อมหาช้างไม่ได้ ด้วยของเหล่านี้เป็นของที่มีเฉพาะกับพระราชาเท่านั้น ชาวเมืองก็จะต้องแพ้อย่างแน่นอน
พระราชาจึงรับสั่งให้จัดมหาทานตามวิธีที่พระนางกราบทูลแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าช้างยังขาดไปเชือกหนึ่ง พระราชาตรัสบอกว่าพระนางมัลลิกา  ที่จริง มีช้างพอ ๕๐๐ เชือก แต่ช้างที่เหลืออยู่เป็นช้างดุร้าย เมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายเข้าก็จะพยศ
พระเทวีจึงทูลพระราชาว่า ให้จัดเอาช้างที่ดุร้ายนั้นยืนอยู่ข้างพระผู้เป็นเจ้าที่ชื่อว่าองคุลิมาล
พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำอย่างนั้น  ก็ปรากฏว่าด้วยเดชของพระเถระ ช้างเชือกนั้น แม้สักว่าพ่นลมจมูก ก็ทำไม่ได้ ช้างสอดหางเข้าในระหว่างขา  ได้ปรบหูทั้งสอง  หลับตายืนอยู่แล้ว. 
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายถามพระองคุลิมาลว่า ท่านเห็นช้างตัวดุร้าย ยืนกั้นฉัตรอยู่แล้ว ไม่กลัวหรือ พระองคุลิมาลตอบว่า ไม่กลัว ภิกษุเหล่านั้น จึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า พระองคุลิมาล พยากรณ์พระอรหัตด้วยคำไม่จริง เพราะเนื่องจากมีเฉพาะผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่กลัวความตาย พระศาสดาทรงตรัสว่า พระองคุลิมาลมิได้พูดเท็จ เพราะว่า ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพย่อมไม่กลัว
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งพระเถระปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้วภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า  พระองคุลิมาลเถระเมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะไปบังเกิดที่ไหน พระศาสดาเสด็จมาแล้ว  ตรัสภิกษุทั้งหลายว่านั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  ปรารภกันถึงเรื่องที่พระองคุลิมาลเถระจะไปบังเกิด พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า พระเถระไม่มาเกิดอีกแล้วเพราะท่านได้ปรินิพพาน (หมายถึงบรรลุพรหัตผล) แล้ว เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า  พระองคุลิมาลเถระฆ่ามนุษย์เป็นจำนวนมากเช่นนั้น ท่านได้ปรินิพพานแล้วหรือ พระพุทธองค์จึงตรัสรับรองว่าเป็นอย่างนั้น เพราะท่านพระองคุลิมาลก่อนนั้นท่านไม่ได้กัลยามิตรสักคนหนึ่ง  จึงได้ทำบาปอย่างนั้นในกาลก่อน แต่ภายหลังเธอได้กัลยาณมิตรเป็นปัจจัย  จึงได้เป็นผู้ไม่ประมาท เหตุนั้น  ท่านจึงสามารถละบาปกรรมนั้นได้แล้วด้วยกุศล
พระพุทธองค์ทรงทรมานพระองคุลิมาลในอดีตชาติ
ตั้งแต่พระอังคุลิมาลเถระนั้น ได้กระทำความสวัสดีแก่หญิงผู้มีครรภ์หลงด้วยทำความสัตย์แล้ว จำเดิมแต่นั้นมาก็ได้อาหารสะดวกขึ้น ได้ปฏิบัติธรรมโดยการเจริญวิเวกอยู่แต่ผู้เดียว ต่อมาไม่นานท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์มีชื่อปรากฏนับเข้าในภายในพระอสีติมหาเถระ ๘๐ องค์ ในครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า ช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทรมานพระองคุลิมาล ผู้เป็นมหาโจรมีฝ่ามืออันชุ่มด้วยเลือด ร้ายกาจเห็นปานนั้น โดยไม่ต้องใช้ทัณฑะหรือศัสตรา ทำให้หมดพยศได้ ทรงกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยากอย่างน่าอัศจรรย์
พระศาสดาประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพโสต ก็ทรงพระดำริว่าพระธรรมเทศนาที่เราจักแสดงวันนี้จะมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงดังนี้ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จไปยังธรรมสภา ประทับนั่งบนอาสนะที่พวกภิกษุจัดไว้ถวายแล้วตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราผู้ได้ทรมานพระองคุลิมาลได้ในบัดนี้ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้เมื่อครั้งในอดีตเราก็ทรมานพระองคุลิมาลนี้ได้ ตรัสดังนี้แล้วทรงนิ่งอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานแสดงดังต่อไปนี้
รับกรรมที่มาตามสนอง
ครั้งหนึ่งท่านได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ในครั้งนั้นก็ปรากฏว่า ก้อนดิน ท่อนไม้ ก้อนกรวดที่บุคคลแม้ขว้างไปในทิศทางอื่น ก็ปรากฏให้สิ่งเหล่านั้นมาตกต้องกายของท่านพระองคุลิมาล ท่านพระองคุลิมาลศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรท่านพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระองคุลิมาลว่า เธอจงอดกลั้นไว้เถิด เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุจะให้เธอนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดชั่วกาลนานนั้น เพียงในปัจจุบันนี้เท่านั้น.