วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'แม่บุญธรรม' หญิงสาวผู้คอยโอบอุ้มสายใยแห่งเลือดนอกอก

มาแชร์เรื่องนี้เผื่อบางทีมีหลายคนยังไม่ได้อ่าน จาก Manager Online สำหรับลูกทุกคนได้ระลึกถึงความรัก
ของอิสตรี


ถึงไม่ได้ให้ กำเนิดโดยเลือดเนื้อเชื้อไข แต่ความยิ่งใหญ่ของผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า 'แม่บุญธรรม' แม่ผู้รับเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงดูแลราวลูกของตน ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่ผู้ให้กำเนิดแม้แต่นิดเดียว
      
        ...ความรัก ความผูกพัน ความเมตตา… ที่เกิดขึ้นเพียงแรกพบได้ถักทอสายใยบางๆ พันธนาการรอบดวงใจของหญิงผู้เป็นแม่คนใหม่ เชื่อว่าคงเป็นวาสนาที่ถูกลิขิตมาระหว่างแม่บุญธรรมกับลูกบุญธรรมที่จะร่วม สานต่อสายใยแห่งครอบครัว นาทีต่อจากนี้การดูแลลูกให้เติบโตเป็นคนดีมีความรับผิดชอบก็เป็นหน้าที่ของ เธอแล้ว
      
       ภาระอันยิ่งใหญ่ของแม่ ครั้นยามกินไม่ได้กินยามนอนก็ไม่ได้นอน เพราะมัวแต่คอยดูแลเจ้าทารก วันไหนกล่องดวงใจไม่สบาย...หัวใจแม่แทบแตกสลาย เฝ้าห่วงหาอาทรหากเจ็บปวดแทนลูกได้ก็พร้อมใจ ครั้นเติบใหญ่เห็นผู้เป็นลูกทนทุกข์...แม่นั้นทุกข์ยิ่งกว่า
      
       ไม่ว่าจะเป็นลูกบุญธรรมที่รับอุปการะมาจากลูกของตน, ญาติพี่น้อง หรือรับอุปการะลูกมาจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ฯลฯ พวกเธอก็ยังเฝ้าเลี้ยงดูฟูมฟักลูกๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งยังสรรหาสิ่งดีๆ มาให้ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สิ่งของ เงินทอง ฯลฯ
      
       เป็นสัจธรรมอีกข้อที่ว่าความห่างไกลทางสายเลือดนั้นไม่ได้เป็น อุปสรรคที่ทำให้แม่บุญธรรมเกิดความรังเกียจในตัวพวกเขาแม้สักนิด ในทางตรงกันข้ามยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้นไป อีก
      
       นัยคำว่า ‘แม่บุญธรรม’
      
       จุดเริ่มต้นของชีวิตน้อยๆ อาจเริ่มต้นจากผู้เป็นแม่ผู้ให้กำเนิด แต่การเดินทางของชีวิตพวกเขาจำนวนไม่น้อยอาจต้องมาเริ่มต้นกับแม่บุญธรรม
      
       นอกจากนี้คำเรียกผู้หญิงที่คอยโอบอุ้มลูกยังมีอีกมาก แต่มีนัยยะที่แตกต่างกันไปนิดหน่อย ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยง ที่ใช้เรียกหญิงผู้มาใช้ชีวิตร่วมกับพ่อ หรือแม่นม คำเรียกหญิงแม่ลูกอ่อนที่แบ่งน้ำนมมาเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นที่นิยมของชนชั้นกลางที่จะหาแม่นมมาเลี้ยงดูแลลูกของตน หรือแม่ทูนหัว หญิงผู้ค้ำจุนนอกจากพ่อแม่แท้ๆ ถือว่าเป็นความเมตตาที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมา ฯลฯ
      
       อย่างไรก็ตามความรู้สึกของผู้เป็นแม่ ระหว่างแม่บังเกิดเกล้ากับแม่บุญธรรมนั้นแทบไม่ต่างกันเลย รศ.สุพัตรา สุภาพ อาจารย์อาวุโส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความผูกพันระหว่างแม่กับเด็กนั้นเกิดขึ้นเพราะการสัมผัส การอุ้ม การกอด ฯลฯ จะเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดหรือไม่ หากเพียงเฝ้าฟูมฟักทะนุถนอมก็เกิดความรักความผูกพันเป็นธรรมดา
      
       “ถามว่าแม่บุญธรรมนั้น ผูกพันกับเด็กน้อยกว่าแม่แท้ๆ หรือเปล่า ก็ต้องบอกก่อนว่าความผูกพันของเด็กนั้นเกิดจากการได้พบหน้าคนที่เลี้ยง การอุ้ม การกอด เมื่อเขาเกิดมาก็เห็นแต่แม่คนนี้เคียงคู่ก็รักก็ผูกพัน เขาไม่ได้สนใจว่าจะเป็นแม่แท้หรือไม่แท้ แม่บุญธรรมก็คือคนที่เลี้ยงดูแลเรา มีความคิดที่ว่าไม่เป็นไรหรอกถ้าลูกไม่รักเราก็ไม่เป็นไรแค่ใจเรารักเด็กคน นี้เหมือนลูกก็พอ
      
        “ขอยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งที่รับเลี้ยงลูกบุญธรรม แกรักลูกบุญธรรมคนนี้มากโอบอุ้มรักใคร่เป็นอย่างดี ตัวแม่บุญธรรมเองไม่ต้องทำงานเลยนะคอยไปรับไปส่งเลี้ยงดูลูกอย่างเดียว อย่างตอนเรียนมหาลัยฯ ก็ไปอยู่ไปดูแลถึง 4 ปีไปอยู่เฝ้าที่หอพักทำกับข้าวให้ลูกกิน โดยที่เด็กไม่ต้องทำอะไรเลย และเด็กคนนี้ก็น่ารัก อยากให้แม่อยู่ด้วยเพราะรู้สึกอบอุ่น คือความที่เขาไม่มีลูกเลยรู้สึกผูกพันกับลูกบุญธรรมที่เลี้ยงมาตั้งแต่แบ เบาะ บางทีมันมีความรักใครผูกพันยิ่งกว่าแม่แท้ๆ เสียอีก”
      
       ในโลกนี้มีทั้งด้านบวกและด้านลบ พ่อแม่ที่แท้จริงที่ไม่แยแสลูกก็มีถมไป แต่ถ้าเด็กคนไหนได้เข้าไปอยู่ในอ้อมอกแม่บุญธรรมที่ให้ความเอ็นดูเอาใจใส่ก็ นับเป็นโชคดีของเขา รศ.สุพัตรา กล่าวถึงคุณลักษณะโดยรวมของพ่อแม่ที่ดีว่า
      
        “เวลาอยู่กับลูกนั้นสำคัญที่สุดเลย คุณได้ทำตัวเป็นพ่อแม่ที่ให้ความรักความอบอุ่นที่แท้จริงหรือเปล่า เรื่องหนึ่งที่สำคัญในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ทั้งหลายอย่าทำตัวเป็นผู้พิพากษา เพราะเขาจะรู้สึกตัวว่าเป็นนักโทษ ขอให้ทำตัวเป็นพี่เลี้ยงของลูกดีกว่า เพราะเขาจะสามารถปรึกษาทุกข์สุขกับเราได้ทุกเรื่อง แล้วเด็กมันก็จะผูกพันกับเรา รู้สึกอบอุ่น”
      
       สิ่งที่แม่บุญธรรมต้องการจากลูกๆ ก็เพียงแค่ขอให้พวกเขาเป็นคนดีและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ถึงไม่ได้ดื่มกินน้ำนมจากอกอุ่นของผู้เป็นแม่ แต่เพวกเขาก็ได้รับไออุ่นจากแม่บุญธรรมที่เฝ้าทะนุถนอมมาโดยตลอด

      
       แม่บุญธรรมของเด็ก 60 คน
      
       ความรักของแม่กับลูก เป็นสิ่งที่มักจะมากับความผูกพันทางสายเลือดแต่ในบางครั้งความผูกพันทางสาย เลือดก็ไม่ได้มีความสำคัญที่สุดเสมอไป มุทิตา หทัยธรรม เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความรักความห่วงใยลูกๆ ของเธอในแบบที่แม่บุญธรรมมีให้แก่ลูกบุญธรรม แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือเด็กๆ ที่อยู่ในฐานะลูกของเธอนั้น มีจำนวนมากถึง 60 คน!
      
       เธอเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ทำหน้าที่เหมือนแม่คอยดูแลพวกเขา ให้ความรักความอบอุ่นแก่พวกเขา ลูกๆ ของเธอก็คือเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก มูลนิธิเด็กนั่นเอง
      
        “เด็กที่นี่เป็นเด็กที่ด้อยโอกาส บางคนกำพร้า บ้างก็ครอบครัวแตกแยกถูกทอดทิ้ง บ้างก็ถูกทารุณกรรม หรือไม่ก็เป็นเคสที่พ่อกับแม่แท้ๆ ของเขาเสพยาเสพติด มีประวัติการค้าประเวณี คือเราเป็นคนไปประเมินบ้านของเขา ประเมินเคสแล้วก็ตัดสินใจรับเด็กเข้ามา จริงๆ แล้วเด็กที่มาที่นี่มีตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี แต่เด็กๆ ในส่วนที่เราดูแลอยู่นั้น จะเป็นเด็กอนุบาลที่มีอายุ 3 - 6 ขวบ เด็กที่นี่ก็จะเรียกคนดูแลว่า แม่”
      
       การดูแลเด็กๆ จำนวนหลายสิบคน รวมทั้งให้ความรักความห่วงใยให้กับทุกคนเท่าๆ กัน นับเป็นเรื่องยากแม้ว่าโดยหลักการแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นก็ตาม
      
       “ที่ผ่านมาเราจะไม่ผูกพันกับเด็กคน ไหนเป็นพิเศษ เพราะเด็กที่ได้รับสิทธิพิเศษจะสร้างความรู้สึกไม่เท่าเทียมให้กับเด็กคน อื่นๆ การที่เด็กอยู่ในสภาวะที่ฉลาดในการเรียกร้องจากคนอื่นนั้น มี 2 กรณี อย่างแรกคือมันเกิดจากเนื้อแท้ของเด็กเอง อีกอย่างก็เกิดจากการเรียนรู้และสภาพแวดล้อม บางคนถึงแม้เขาจะไม่มีใครเลย แต่ถ้าเนื้อแท้ของเขาไม่ได้เป็นคนที่ชอบเรียกร้อง เขาก็ไม่เปลี่ยนไปมีพฤติกรรมที่ไม่ดี
      
        “มนุษย์ทุกคนต้องการที่จะมีแม่กันทั้งนั้น ทุกคนต้องการความรัก ต้องการใครคนใดคนหนึ่งที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของได้ และคนคนนั้นก็เป็นเจ้าของเขาได้ แต่ในกรณีของเรานั้นไม่สามารถให้สิ่งนั้นได้กับทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตเขาเองในตอนที่เขาโตขึ้น”
      
       เสียงจากแม่-ลูกบุญธรรม
      
       หนึ่งเสียงสะท้อนจากแม่บุญธรรมอย่าง เหงี่ยม สุรินทร์ เกษตรกรชาวเหนือผู้รับภาระเป็นแม่บุญธรรมของลูก 3 คน เธอเล่าว่า พวกเขาล้วนเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งเพราะปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน ด้วยความเมตตาก็เลยนำพวกเขามาเลี้ยงดังลูกแท้ๆ
      
       “เราเลี้ยงเหมือนลูกเลย เพราะว่าเรารักเขามาก สงสารเขา ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็เป็นหลานเราทั้งหมดเลย ที่เอามาเลี้ยง ญาติทางเราเอง 2 คน แล้วก็ญาติทางสามี 1 คน ซึ่งญาติทางสามีแม่เขายังเด็ก รับผิดชอบไม่ไหว เราก็เลยเอาเด็กมาเลี้ยงเอง ตอนนี้เขาก็โตทำมาหากินได้กันหมดแล้ว เราก็โล่งใจ”
      
       เหงี่ยม เปิดเผยว่าถึงบางครั้งลูกจะทำตัวเกเร แต่ตนก็ไม่เคยถือโทษโกรธแม้แต่น้อย และไม่ได้คาดหวังให้พวกเขามาเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า เพียงแต่หวังให้ลูกๆ มีหน้าที่การงานมั่นคง เป็นคนดีของสังคม
      
       ด้านลูกสาวบุญธรรมอย่าง บงกฎธร เจนเจริญกิจ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่าพ่อแม่ของตนแยกทางกันตั้งแต่ตอนเธออายุ 7 ขวบ แล้วก็ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่บุญธรรมผู้เปรียบดั่งแม่บังเกิดเกล้าเรื่อยมา
      
       “เราผูกพันและสนิทกับแม่คนนี้มากๆ เขาดูแลเรามาตลอด เรารักเขาเหมือนแม่แท้ๆ รู้ว่าเขาลำบากมาก และเหนื่อยมากที่เลี้ยงเรามา เพราะว่าต้องหาเงินมาเลี้ยงลูกที่ไม่ใช่เราคนเดียว ยังมีน้องชายอีก 2 คนที่แม่ต้องรับภาระเลี้ยงดู ต้องใช้เงินทองจำนวนมากกว่าจะเลี้ยงเราโตมา ยิ่งเรามีลูกมีครอบครัวเรารู้เลยว่าการเลี้ยงเด็กสักคนมันเหนื่อยแค่ไหน”
      
       ตอนนี้เขาอายุมากขึ้นก็เป็นหน้าที่ของลูกๆ ที่ต้องดูแลบ้างแล้ว ถึงครอบครัวของเราไม่ได้พร่ำบอกกันว่ารัก แต่การกระทำมันก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ถึงความรักอยู่แล้ว
      
       “จะหาเวลาไปกินอาหารนอกบ้านร่วมกัน ตลอด อย่างวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดพิเศษ ไม่จำเป็นต้องเป็นวันแม่อย่างเดียว อีกอย่างถึงเราจะแต่งงานมาอยู่คนละบ้านกับคุณแม่บุญธรรมแต่ก็ไปมาหาสู่ท่าน ทุกวันเพราะบ้านอยู่ใกล้กัน”
       ..........
      
       สายใยความสัมพันธ์ระหว่างแม่บุญธรรมกับลูกบุญธรรม คงเป็นวาสนาที่ทำร่วมกันแต่ปางก่อน ถึงแม้ไม่ได้อุ้มท้อง ไม่ได้เกิดโดยเลือดเนื้อเชื้อไข แต่ความเป็นแม่ผู้เสียสละของพวกเธอนั้นช่างยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน...
       >>>>>>>>>>ขอบคุณ Manager Online สำหรับบทความดีๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น